« Home | ฮานาบิ » | ก้าวที่หนึ่ง » 

Tuesday, November 22, 2005 

ติดตั้งเดเบียนบน IBM R50e : ตอนที่ ๑

หลังจากออกแรงเชียร์โน๊ตบุ๊คไอบีเอ็มอยู่พักใหญ่ ตอนนี้ก็ได้ผู้ร่วมอุดมการณ์เพิ่มอีกหลายคน เฉพาะที่ห้องแล็ปก็มี ๕ เครื่องแล้ว นับว่าไม่เสียแรงเปล่า และพักหลังไอบีเอ็มเองก็หันมาสนใจตลาดล่างมากขึ้น จึงมีรุ่นใหม่ๆ ที่ราคาใกล้เคียงกับคู่แข่งออกมาสู่ตลาด ให้ได้เลือกหาเลือกใช้กัน ด้วยภาพลักษณ์น้องอ้วนดำ แข็งแกร่งบึกบึน ทนและไม่ค่อยงอแง ก็ถูกใจใครหลายๆ คนทีเดียว ส่วนตัวตอนนี้ยังใช้ X21 เพนเทียม III 700 MHz อายุ ๔ ปีอยู่เลย ถ้าเปลี่ยนอีกครั้งก็คิดว่าคงจะยังซื้อไอบีเอ็ม แต่อาจจะเปลี่ยนเป็น "ทีซีรี่ย์" แทน คงรออินเทลออก "เมรอม" ชิพคอร์คู่ ๖๔ บิตก่อน ซึ่งเห็นว่าจะออกปลายปีหน้า หรือไม่ถ้าเอเอ็มดีมีตัวเจ๋งๆ และจำเป็นต้องใช้เครื่องใหม่เลย ก็อาจได้ถอยมาสักตัว

แต่ตอนนี้สมาชิกใหม่ไอบีเอ็มอยากได้ลินุกซ์เพื่อจะใช้งานเคเดนซ์ เลยต้องมาปัดฝุ่นกันหน่อย แน่นอน... ดิสโตรที่เลือกก็ยังคงเป็นเดเบียนเช่นเดิม เพราะทดสอบมาแล้วว่าเข้ากับเคเดนซ์ได้ดี เริ่มต้่นด้วยการเช็คสเปคเครื่องนิดนึง

บริษัทผู้ผลิต IBM/Lenovo
หน่วยประมวลผล Intel Pentium-M 725 (1.6 GHz)
หน่วยความจำ 1 GBytes
ชิพเซท Intel 82801 DBE
ฮาร์ดดิสก์ ฮิตาชิ 40 GBytes (4,200 รอบ)
ออพติคอลไดร์ฟ คอมโบไดร์ฟ 8/24/24/24
หน้าจอ ทีเอฟที แอลซีดี 14 นิ้ว (1024x768 พิกเซล)
หน่วยประมวลผลกราฟฟิค Intel 82852/82855 GM (หน่วยความจำร่วม ๖๔ เมกกะไบต์)
การ์ดเสียง AD1981B AC'97
การเชื่อมต่อเครือข่าย INtel Pro/100 VEี

Intel Pro/Wireless 2200 bg

ส่วนที่เหลือก็น่าจะเหมือนใน ธิงค์วิกิ

ต่อไปก็เตรียมติดตั้งเดเบียน ด้วยการไปดาวน์โหลดอิมเมจไฟล์จาก เดบียนอินสตอเลอร์ เลือกเนตอินสตอล์ ไอ๓๘๖ ขนาดไฟล์ประมาณ ๑๐๐ เมกกะไบต์ หลังจากเผาแผ่นเสร็จเรียบร้อย ก็บูตเครื่องใหม่โดยไม่รีรอ พร้อมกันนี้ก็ไม่ลืมที่จะเปิดบล็อก คุณพูนลาภ เพื่ออ่านคำแนะนำ

สำหรับแผ่นติดตั้งรุ่นใหม่จะตั้งค่าปริยายเป็นเคอร์เนล ๒.๖ ซึ่งยังไม่เคยลองด้วยตัวเองว่ามีปัญหากับเคเดนซ์จริงหรือเปล่า แต่เห็นในต่างประเทศเขาบอกว่ามี เลยไม่้เสี่ยงดีกว่า พิมพ์ linux24 ที่บูตพรอมพ์เพื่อติดตั้งเคอร์เนล ๒.๔ ปลอดภัยที่สุด (แต่จะมีปัญหาไดร์ฟเวอร์อุปกรณ์ไหมเนี่ย? เอาเถอะ เดี๋ยวค่อยไปตามแก้ทีหลัง)

ทำการติดตั้งระบบพื้นฐานตามขั้นตอนปกติ แบ่งฮาร์ดดิสก์เป็นสามส่วน ส่วนที่ ๑ เป็นของวินโดวส์เอ็กซ์พีเดิม ส่วนที่ ๒ เป็นสวอปของเดเบียน กันเอาไว้ ๒ กิ๊ก (กิ๊กเดียวไม่เคยพอ... อิอิ ขอแอบปล่อยมุขนิดนึง) เพราะในเครื่องมีหน่วยความจำอยู่กิ๊กนึงแล้ว และเคเดนซ์เวอร์ชัน ๓๒ บิต ใช้หน่วยความจำสูงสุดได้เพียง ๓ กิ๊กเท่านั้น จึงไม่มีประโยชน์อะไรที่จะกันเนื้อที่ไว้มากกว่านี้ สำหรับพาร์ทิชั่นที่ ๓ ก็ให้เป็นรูทไป ส่วนขั้นตอนสุดท้ายก่อนรีบูตเครื่อง นั่นคือการเลือกบูตโหลดเดอร์ เจ้าของเครื่องเขาอยากใช้บูตโหลดเดอร์ของวินโดวส์เอ็กซ์พีมากกว่าใช้กรับ เรื่องเลยยาวขึ้นอีกนิดนึง โดยต้องสั่งให้กรับเขียนส่วนเริ่มต้นที่รูทพาร์ทิชั่นแทนมาสเตอร์บูตเรคคอร์ด(สำหรับเครื่องนี้คือ /dev/hda3) และเมื่อรีสตาร์ทเครื่องครั้งแรกจะต้องใส่แผ่นฟล็อปปี้ของเดเบียนเพื่อบูตเครื่อง ซึ่งโชคดีว่ามีตัวไดร์ฟฟล็อปปี้ภายนอกจากเครื่อง เอ็กซ์๒๑ อยู่ (ทดลองบูตด้วยแผ่นซีดี ปรากฏว่าใช้ไม่ได้ สุดท้ายก็ยังต้องพึ่งแผ่นฟล็อปปี้อยู่ดี) จากนั้นที่บูตพรอมพ์ให้พิมพ์ว่า
boot: rescue root=/dev/hda3

คำสั่งนี้จะทำให้เครื่องบูตเข้าสู้ระบบปฏิบัติการภายในเครื่องแทนการเริ่มต้นลงโปรแกรมใหม่ จากนั้นจึงทำการสำเนาบูตเรคคอร์ดของลินุกซ์ เพื่อไปลงไว้ในพาร์ทิชั่นวินโดวส์ให้บูตโหลดเดอร์เรียกใช้ได้ด้วยคำสั่ง
# dd if=/dev/hda3 of=/bootsect.lnx bs=512 count=1
จากนั้นบันทึกลงแผ่นฟล็อปปี้ อาจจะด้วยคำสั่ง
# mcopy /bootsect.lnx a:
คำสั่ง mcopy จะอยู่ในชุด mtools ซึ่งเริ่มต้นยังไม่ได้ลงไว้ ก็เลยต้องใช้วิธีดั้งเดิม
# mkdir /floppy
# mount -t vfat /dev/fd0 /floppy
# cp /boosect.lnx /floppy
# umount /floppy


ซึ่งโดยทั่วไปสำหรับเครื่องที่มีฟล็อปปี้ในตัวก็น่าจะแค่นี้ แต่สำหรับไอบีเอ็มดันไม่ง่ายอย่างงั้น เพราะมันเป็นยูเอสบีฟล็อปปี้ จึงต้องใช้วิธีพิเศษ เลยคิดว่าคงต้องใช้ซีเคียวเชลล์ส่งไปเก็บไว้เครื่องอื่นก่อน แล้วค่อยเอาลงในวินโดวส์ทีหลัง ปรากฏว่าเครื่องยังไม่ได้ลงซีเคียวเชลล์อีก อืม... ยุ่งยากเหมือนกันแฮะ ลองค้นดูก็เจอคนมีปัญหานี้กันมาก เขาบอกว่าต้องทำการเพิ่มโมดูล usb-storage เองด้วยคำสั่ง

# /sbin/modprobe usb-storage
จะให้มั่นใจก็ไปเช็คใน /etc/modules ด้วยว่ามีหรือยัง เวลาบูตครั้งต่อๆ ไป จะได้ไม่ต้องทำซ้ำ ซึ่งหลังจากนี้ ถ้าเสียบยูเอสบีฟล็อปปี้เข้าไปก็จะดีเทคได้ทันที แต่มันจะมองเป็น SCSI ไดร์ฟแทน เพราะฉะนั้น จึงต้องใช้คำสั่ง
# mount -t vfat /dev/sda /floppy
# cp /boosect.lnx /floppy
# umount /floppy


เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้วก็เอาไฟล์ bootsect.lnx นี้ไปไว้ที่ C:\ แล้วแก้ไข C:\boot.ini นิดหน่อย ด้วยการเพิ่มบรรทัด


C:\bootsect.lnx="Debian Linux (Etch)"



เท่านี้เป็นอันเรียบร้อย หลังจากนี้พอบูตเข้าวินโดวส์ปุ๊บก็จะมีเมนูให้เลือกเข้าเดเบียนได้เลย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังทำขั้นตอนเหล่านี้ไม่เสร็จดี ไฟที่คณะดันดับยาวซะก่อน วัยรุ่นเซ็ง :S ต้องเก็บไว้ต่อวันหลังซะแล้ว สำหรับลิงก์ที่น่าสนใจก็ขอจดไว้ตรงนี้ละกัน

เพิ่มเติม - ๒๑ ธันวาคม ๒๕๔๘
ในที่สุดก็ได้ลองติดตั้งต่ิอเสียที ปรากฏว่าที่เครื่องไอบีเอ็มมองไม่เห็นฟล็อปปี้ ไม่ใช่เพราะมันไม่ฉลาดพอ แต่เป็นเพราะไปบูตด้วยแผ่นที่เป็นเคอร์เนล 2.4.18 ในขณะที่ในเครื่องลงเคอร์เนล 2.4.27 ไว้ ถึงแม้มันจะบูตได้แต่ก็โหลดไดรฟ์เวอร์ไม่ได้เลยสักตัว เมื่อลองเช็คดูดีๆ ปรากฏว่าฟล็อปปี้ของเคอร์เนลตัวใหม่ๆ ได้ตัดฟังก์ชัน rescue ไปเสียแล้ว จึงไม่สามารถเรียกใช้ได้อีกต่อไป สุดท้ายต้องตัดใจ สั่งให้กรับเขียนทับมาสเตอร์บูตเรคคอร์ดไปเลย ด้วยคำสั่ง
# grub-install /dev/hda
ลองรีสตาร์ทดูก็ใช้ได้ กรับสร้างตัวเลือกสำหรับวินโดวส์ให้เรียบร้อยอยู่แล้ว พอบูตเข้าเดเบียนทุกอย่างก็เป็นไปตามปกติ มองเห็นเนตเวอร์คและฟล็อปปี้ ทำการเปลี่ยนตำแหน่งบูตของกรับให้เป็น /dev/hda3 ตามเดิม แล้วจึงทำการสำเนาไฟล์บูตลงแผ่นอย่างที่ตั้งใจได้ในที่สุด สุดท้าย บูตด้วยแผ่นโปรแกรมวินโดวส์เอ็กซ์พี เลือกเข้า Recovery Mode แล้วใช้คำสั่ง fixmbr เพื่อกลับไปใช้บูตโหลดเดอร์ของวินโดวส์เช่นเดิม

เกี่ยวกับฉัน

  • ชื่อ อมร
  • อยู่แถวๆ ลาดกระบัง, กรุงเทพฯ
  • เรียนหนังสือมานาน ยังไม่จบซะที เพราะชีวิตคือการเรียนรู้
My profile

บันทึกก่อนหน้า

บล็อกเพื่อนๆ

Powered by Blogger
and Blogger Templates