Wednesday, November 30, 2005 

สเปคเครื่องสำหรับวินโดวส์วิสต้า

เก็บไว้ในบุ๊คมาร์คมานาน ไม่ได้อ่านสักที วันนี้นั่งเคลียร์บุ๊คมาร์คขณะรอคอมพ์อีกเครื่องคำนวณงาน เลยได้อ่่านบทความนี้ในที่สุด เขาบอกว่าสิ่งที่วิสต้าแตกต่างจากวินโดวส์รุ่นเดิมๆ มากที่สุดก็คือการแสดงผล เพราะจะเปลี่ยนวิธีการสร้างภาพออกหน้าจอ จากเดิมที่เป็นแบบบิตแมปไปเป็นแบบเวคเตอร์ 3D และจะย้ายงานการประมวลภาพส่วนใหญ่ไปที่หน่วยประมวลผลกราฟฟิค หรือ จีพียู แทน วิธีนี้ทำให้ลดภาระการทำงานของหน่วยประมวลกลางไปได้มาก และผู้ใช้ยังสามารถย่อหรือขยายภาพได้อย่างอิสระ โดยไม่สูญเสียคุณภาพเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นถ้าอยากจะใช้วิสต้าละก็ เลี่ยงไม่ได้เลยที่จะต้องซื้อการ์ดแสดงผลดีๆ มาใช้ด้วย เขายังบอกอีกว่า การ์ดแสดงผล 3D ในปัจจุบันรุ่นทั่วไปก็ใช้ได้แล้ว ไม่ต้องถึงกับเป็นรุ่นท็อปสุด แต่ก็ควรจะเป็น พีซีไออี เอ็ก ๑๖ เพราะ เอจีพี ไม่อาจให้แบนด์วิธท์มากพอได้ และควรมีหน่วยความจำ ๑๒๘ เมกกะไบต์ ถึงจะดี และจะยิ่งเยี่ยมถ้ามีถึง ๒๕๖ เมกกะไบต์ ไม่ใช่น้อยๆ เลยนะนี่

ในส่วนฮาร์ดดิสก์ก็ควรจะใช้ซีเรียลเอทีเอ ๒ ซึ่งมีฟังก์ชัน เนทีฟคอมมานด์คิวอิ่ง ที่ทำให้ตัวไดร์ฟสามารถจัดเรียงลำดับงานใหม่เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เช่น ถ้างานที่ ๒ สำคัญกว่า ก็ไม่จำเป็นต้องรอให้งานที่ ๑ เสร็จก่อน ตัวไดร์ฟสามารถเปลี่ยนมาทำงานที่ ๒ ได้ทันที ซึ่งเป็นเทคนิคใกล้เคียงกับที่ใช้อยู่ในไดร์ฟแบบ สกัซซี่ ในปัจจุบัน

ในส่วนของหน่วยประมวลผลกลาง วินโดวส์วิสต้าสนับสนุนการทำงานแบบมัลติเธรดอย่างสมบูรณ์ เพราะฉะนั้นการใช้ซีพียูแบบดูอัลคอร์ก็จะแสดงผลเต็มๆ กันคราวนี้แหล่ะ แต่ในบทความไม่ยักกะบอกว่าต้องใช้สเป็คซีพียูขนาดเท่าไหร่ คงเพราะเดี๋ยวนี้เลิกวัดประสิทธิภาพของซีพียูด้วยความเร็วสัญญาณนาฬิกาไปแล้ว เลยไม่รู้จะอ้างอิงอะไรดี

สุดท้ายคือเรื่องหน่วยความจำหลัก หากยังใช้กับซีพียู ๓๒ บิตอยู่ หน่วยความจำขนาด ๕๑๒ เมกกะไบต์ก็ยังพอไหว แต่ถ้าใช้กับ ๖๔ บิตแล้วละก็ ควรจะใช้ขนาด ๒ กิกกะไบต์ ดีดีอาร์๓ เนื่องจากเมื่อเป็น ๖๔ บิตแล้ว ขนาดข้อมูลก็ต้องใหญ่เป็นสองเท่าด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นในบางระบบเช่น โน๊ตบุ๊ค อาจไม่สามารถยัดฮาร์ดแวร์ขนาดนี้เข้าไปได้ วิสต้าจึงมีส่วนติดต่อผู้ใช้แบบเก่าที่คล้ายวินโดวส์เอ็กซ์พีมาให้เลือกใช้เช่นกัน แต่ถ้าอยากสัมผัส แอโร กลาส ส่วนติดต่อผู้ใช้ตัวใหม่ของวิสต้า ก็คงต้องยอมเสียตังค์ยกเครื่องกันใหม่ซะแล้ว

Friday, November 25, 2005 

เวิร์ด-ทู-เท็กซ์

เมื่อวานมีคนมาขอให้ช่วยสอนการใช้ เลเท็กซ์ หลายคนในช่วงใกล้ๆ กันโดยมิได้นัดหมาย เนื่องจากช่วงหลังมีการขยายการส่งบทความวิชาการไปลงวารสารที่หลากหลายมากขึ้น และวารสารแทบทั้งหมด (ถ้าไม่ใช่ทั้งหมด) จะกำหนดรูปแบบการเรียงพิมพ์มาตรฐานเป็นเลเท็กซ์อยู่แล้ว มีบ้างที่บางวารสารอาจจะยอมรับรูปแบบของโปรแกรมเวิร์ดโพรเซสซิ่ง (ไมโครซอร์ฟเวิร์ด หรือ เวิร์ดเพอร์เฟค ต่อไปอาจจะรองรับ โอเพนออฟฟิศ ด้วยก็ไม่แน่) แต่ก็ต้องนำข้อมูลเหล่านั้นไปเรียงพิมพ์ใหม่อีกครั้ง นี่เป็นการยืนยันถึงคุณภาพของเลเท็กซ์และโปรแกรมในโลกโอเพนซอร์สได้เป็นอย่างดี

ปัญหาหลักของผู้ที่เริ่มหันมาใช้เลเท็กซ์ใหม่ๆ ก็คือ รู้สึกยุ่งยากในการต้องมาเรียนรู้ การป้อนคำสั่งมากมายเพื่อแทนสมการ แบ่งคอลัมน์ จัดหน้า ฯลฯ ทำให้หมดกำลังใจทำกันไปนักต่อนัก ทั้งๆ ที่เดี๋ยวนี้บรรณาธิกรณ์ (เอดิเตอร์) รุ่นใหม่นั้น ได้ช่วยอำนวยความสะดวกให้มากแ้ล้ว มีปุ่มลัดมากมายช่วยให้ไม่ต้องจำคำสั่งทั้งหมด แต่หลายๆ คน แค่เห็นตัวหนังสือเต็มไปหมดก็ขยาดแล้ว จึงมีคนถามว่า ไม่มีวิธีที่ง่ายกว่านี้หรือ?

โดยส่วนตัวแล้ว อยากให้ทุกคนได้เริ่มเรียนรู้จากพื้นฐาน ที่แรกๆ อาจจะดูเหมือนยากลำบากสักหน่อย แต่ถ้าฝ่าฝันไปได้ ก็จะได้สิ่งดีๆ ตอบแทนแน่นอน จึงไม่ค่อยอยากให้ใช้วิธีลัด แต่เอาเข้าจริงๆ อาจพาลทำให้คนที่สนใจจะใช้เลเท็กซ์ล้มเลิกความตั้งใจไปซะหมด จึงมานั่งนึกๆ ดู ว่ามีอะไรที่ง่ายสำหรับผู้เริ่มต้นไหม อันดับแรกที่นึกถึงก็คือโปรแกรมตระกูล "วิซซี่วิก" และแน่นอนตัวแรกที่นึกถึงก็คือ ลิกซ์ อันนี้เป็นตัวแรกๆ เลยที่รู้จัก เคยคิดจะใช้เหมือนกัน แต่ทำไปทำมาก็ใช้โน็ตแพ็ดนี่แหล่ะ เป็นอุปกรณ์ตัวแรก เดี๋ยวนี้ย้ายไปทำเลเท็กซ์บนลินุกซ์เต็มตัว ก็เลยใช้แต่ จีอีดิต เรื่อยมา

จากนั้นก็ลองๆ ค้นกูเกิ้ลดู ก็พบอีกตัวที่น่าสนใจ นั่นคือ บาโคม่า เท็กซ์ ดูคล้ายๆ บรรณาธิกรณ์ทั่วไป แต่มีความสามารถแบบวิซซี่วิก สุดท้ายก็มาถึงหัวเรื่องของวันนี้ นั่นคือโปรแกรม "เวิร์ด-ทู-เท็กซ์" และโปรแกรมคู่หู "เท็กซ์-ทู-เวิร์ด" ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ใช้แปลงไฟล์กลับไปกลับมา ระหว่างไฟล์ตระกูล เท็กซ์ กับตระกูลเวิร์ด ได้ เคยลองใช้เมื่อหลายปีก่อน ไม่ค่อยประทับใจนัก เนื่องจากยังแปลงไฟล์ได้ไม่ดี สมการบางตัวมันไม่เข้าใจ มันก็แปลงออกมาเป็นรูปเฉยเลย แถมไม่เข้าใจเยอะซะด้วย ก็เลยเลิกสนใจไป มาคราวนี้เขาออกเวอร์ชันใหม่มา สามารถทดลองใช้ได้ ๓๐ วัน เลยโหลดมาลองสักหน่อย ปรากฏว่า คราวนี้มันทำงานได้ดีมากๆ จนไม่น่าเชื่อ ขนาดสมการซับซ้อนมันก็ยังแปลงมาได้ไม่ผิดสักตัว! อืมๆ เทคโนโลยีก้าวไวดีจริง โปรแกรมตัวนี้จึงนับเป็นโปรแกรมทางเลือกที่ไม่เลวทีเดียว สำหรับเป็นสะพานเชื่อมให้ผู้คนในโลกของภาพลวงตาแห่งความสะดวกสบายจอมปลอมที่ได้จากโปรแกรม ตระกูลเวิร์ด ได้ลองก้าวเข้ามาสู่โลกแห่งการเรียงพิมพ์ผลงานคุณภาพสูงอย่างเลเท็กซ์ซักที แต่แน่นอนว่าเมื่อแปลงไฟล์มาแล้วก็ใช่ว่าจะสมบูรณ์ทั้งหมด ผู้ใช้ยังคงต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเลเท็กซ์ เพื่อปรับแต่งให้ไฟล์ต้นฉบับถูกต้องตรงตามข้อกำหนดอีกครั้งหนึ่ง ไม่ว่าอย่างไร มันก็ทำให้การเริ่มต้นใช้งานเท็กซ์ ง่ายขึ้นมากทีเดียว

สำหรับผู้สนใจใช้งานเลเท็กซ์บนวินโดวส์ โปรแกรมที่แนะนำว่าน่าใช้คือ

Tuesday, November 22, 2005 

ติดตั้งเดเบียนบน IBM R50e : ตอนที่ ๑

หลังจากออกแรงเชียร์โน๊ตบุ๊คไอบีเอ็มอยู่พักใหญ่ ตอนนี้ก็ได้ผู้ร่วมอุดมการณ์เพิ่มอีกหลายคน เฉพาะที่ห้องแล็ปก็มี ๕ เครื่องแล้ว นับว่าไม่เสียแรงเปล่า และพักหลังไอบีเอ็มเองก็หันมาสนใจตลาดล่างมากขึ้น จึงมีรุ่นใหม่ๆ ที่ราคาใกล้เคียงกับคู่แข่งออกมาสู่ตลาด ให้ได้เลือกหาเลือกใช้กัน ด้วยภาพลักษณ์น้องอ้วนดำ แข็งแกร่งบึกบึน ทนและไม่ค่อยงอแง ก็ถูกใจใครหลายๆ คนทีเดียว ส่วนตัวตอนนี้ยังใช้ X21 เพนเทียม III 700 MHz อายุ ๔ ปีอยู่เลย ถ้าเปลี่ยนอีกครั้งก็คิดว่าคงจะยังซื้อไอบีเอ็ม แต่อาจจะเปลี่ยนเป็น "ทีซีรี่ย์" แทน คงรออินเทลออก "เมรอม" ชิพคอร์คู่ ๖๔ บิตก่อน ซึ่งเห็นว่าจะออกปลายปีหน้า หรือไม่ถ้าเอเอ็มดีมีตัวเจ๋งๆ และจำเป็นต้องใช้เครื่องใหม่เลย ก็อาจได้ถอยมาสักตัว

แต่ตอนนี้สมาชิกใหม่ไอบีเอ็มอยากได้ลินุกซ์เพื่อจะใช้งานเคเดนซ์ เลยต้องมาปัดฝุ่นกันหน่อย แน่นอน... ดิสโตรที่เลือกก็ยังคงเป็นเดเบียนเช่นเดิม เพราะทดสอบมาแล้วว่าเข้ากับเคเดนซ์ได้ดี เริ่มต้่นด้วยการเช็คสเปคเครื่องนิดนึง

บริษัทผู้ผลิต IBM/Lenovo
หน่วยประมวลผล Intel Pentium-M 725 (1.6 GHz)
หน่วยความจำ 1 GBytes
ชิพเซท Intel 82801 DBE
ฮาร์ดดิสก์ ฮิตาชิ 40 GBytes (4,200 รอบ)
ออพติคอลไดร์ฟ คอมโบไดร์ฟ 8/24/24/24
หน้าจอ ทีเอฟที แอลซีดี 14 นิ้ว (1024x768 พิกเซล)
หน่วยประมวลผลกราฟฟิค Intel 82852/82855 GM (หน่วยความจำร่วม ๖๔ เมกกะไบต์)
การ์ดเสียง AD1981B AC'97
การเชื่อมต่อเครือข่าย INtel Pro/100 VEี

Intel Pro/Wireless 2200 bg

ส่วนที่เหลือก็น่าจะเหมือนใน ธิงค์วิกิ

ต่อไปก็เตรียมติดตั้งเดเบียน ด้วยการไปดาวน์โหลดอิมเมจไฟล์จาก เดบียนอินสตอเลอร์ เลือกเนตอินสตอล์ ไอ๓๘๖ ขนาดไฟล์ประมาณ ๑๐๐ เมกกะไบต์ หลังจากเผาแผ่นเสร็จเรียบร้อย ก็บูตเครื่องใหม่โดยไม่รีรอ พร้อมกันนี้ก็ไม่ลืมที่จะเปิดบล็อก คุณพูนลาภ เพื่ออ่านคำแนะนำ

สำหรับแผ่นติดตั้งรุ่นใหม่จะตั้งค่าปริยายเป็นเคอร์เนล ๒.๖ ซึ่งยังไม่เคยลองด้วยตัวเองว่ามีปัญหากับเคเดนซ์จริงหรือเปล่า แต่เห็นในต่างประเทศเขาบอกว่ามี เลยไม่้เสี่ยงดีกว่า พิมพ์ linux24 ที่บูตพรอมพ์เพื่อติดตั้งเคอร์เนล ๒.๔ ปลอดภัยที่สุด (แต่จะมีปัญหาไดร์ฟเวอร์อุปกรณ์ไหมเนี่ย? เอาเถอะ เดี๋ยวค่อยไปตามแก้ทีหลัง)

ทำการติดตั้งระบบพื้นฐานตามขั้นตอนปกติ แบ่งฮาร์ดดิสก์เป็นสามส่วน ส่วนที่ ๑ เป็นของวินโดวส์เอ็กซ์พีเดิม ส่วนที่ ๒ เป็นสวอปของเดเบียน กันเอาไว้ ๒ กิ๊ก (กิ๊กเดียวไม่เคยพอ... อิอิ ขอแอบปล่อยมุขนิดนึง) เพราะในเครื่องมีหน่วยความจำอยู่กิ๊กนึงแล้ว และเคเดนซ์เวอร์ชัน ๓๒ บิต ใช้หน่วยความจำสูงสุดได้เพียง ๓ กิ๊กเท่านั้น จึงไม่มีประโยชน์อะไรที่จะกันเนื้อที่ไว้มากกว่านี้ สำหรับพาร์ทิชั่นที่ ๓ ก็ให้เป็นรูทไป ส่วนขั้นตอนสุดท้ายก่อนรีบูตเครื่อง นั่นคือการเลือกบูตโหลดเดอร์ เจ้าของเครื่องเขาอยากใช้บูตโหลดเดอร์ของวินโดวส์เอ็กซ์พีมากกว่าใช้กรับ เรื่องเลยยาวขึ้นอีกนิดนึง โดยต้องสั่งให้กรับเขียนส่วนเริ่มต้นที่รูทพาร์ทิชั่นแทนมาสเตอร์บูตเรคคอร์ด(สำหรับเครื่องนี้คือ /dev/hda3) และเมื่อรีสตาร์ทเครื่องครั้งแรกจะต้องใส่แผ่นฟล็อปปี้ของเดเบียนเพื่อบูตเครื่อง ซึ่งโชคดีว่ามีตัวไดร์ฟฟล็อปปี้ภายนอกจากเครื่อง เอ็กซ์๒๑ อยู่ (ทดลองบูตด้วยแผ่นซีดี ปรากฏว่าใช้ไม่ได้ สุดท้ายก็ยังต้องพึ่งแผ่นฟล็อปปี้อยู่ดี) จากนั้นที่บูตพรอมพ์ให้พิมพ์ว่า
boot: rescue root=/dev/hda3

คำสั่งนี้จะทำให้เครื่องบูตเข้าสู้ระบบปฏิบัติการภายในเครื่องแทนการเริ่มต้นลงโปรแกรมใหม่ จากนั้นจึงทำการสำเนาบูตเรคคอร์ดของลินุกซ์ เพื่อไปลงไว้ในพาร์ทิชั่นวินโดวส์ให้บูตโหลดเดอร์เรียกใช้ได้ด้วยคำสั่ง
# dd if=/dev/hda3 of=/bootsect.lnx bs=512 count=1
จากนั้นบันทึกลงแผ่นฟล็อปปี้ อาจจะด้วยคำสั่ง
# mcopy /bootsect.lnx a:
คำสั่ง mcopy จะอยู่ในชุด mtools ซึ่งเริ่มต้นยังไม่ได้ลงไว้ ก็เลยต้องใช้วิธีดั้งเดิม
# mkdir /floppy
# mount -t vfat /dev/fd0 /floppy
# cp /boosect.lnx /floppy
# umount /floppy


ซึ่งโดยทั่วไปสำหรับเครื่องที่มีฟล็อปปี้ในตัวก็น่าจะแค่นี้ แต่สำหรับไอบีเอ็มดันไม่ง่ายอย่างงั้น เพราะมันเป็นยูเอสบีฟล็อปปี้ จึงต้องใช้วิธีพิเศษ เลยคิดว่าคงต้องใช้ซีเคียวเชลล์ส่งไปเก็บไว้เครื่องอื่นก่อน แล้วค่อยเอาลงในวินโดวส์ทีหลัง ปรากฏว่าเครื่องยังไม่ได้ลงซีเคียวเชลล์อีก อืม... ยุ่งยากเหมือนกันแฮะ ลองค้นดูก็เจอคนมีปัญหานี้กันมาก เขาบอกว่าต้องทำการเพิ่มโมดูล usb-storage เองด้วยคำสั่ง

# /sbin/modprobe usb-storage
จะให้มั่นใจก็ไปเช็คใน /etc/modules ด้วยว่ามีหรือยัง เวลาบูตครั้งต่อๆ ไป จะได้ไม่ต้องทำซ้ำ ซึ่งหลังจากนี้ ถ้าเสียบยูเอสบีฟล็อปปี้เข้าไปก็จะดีเทคได้ทันที แต่มันจะมองเป็น SCSI ไดร์ฟแทน เพราะฉะนั้น จึงต้องใช้คำสั่ง
# mount -t vfat /dev/sda /floppy
# cp /boosect.lnx /floppy
# umount /floppy


เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยแล้วก็เอาไฟล์ bootsect.lnx นี้ไปไว้ที่ C:\ แล้วแก้ไข C:\boot.ini นิดหน่อย ด้วยการเพิ่มบรรทัด


C:\bootsect.lnx="Debian Linux (Etch)"



เท่านี้เป็นอันเรียบร้อย หลังจากนี้พอบูตเข้าวินโดวส์ปุ๊บก็จะมีเมนูให้เลือกเข้าเดเบียนได้เลย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังทำขั้นตอนเหล่านี้ไม่เสร็จดี ไฟที่คณะดันดับยาวซะก่อน วัยรุ่นเซ็ง :S ต้องเก็บไว้ต่อวันหลังซะแล้ว สำหรับลิงก์ที่น่าสนใจก็ขอจดไว้ตรงนี้ละกัน

เพิ่มเติม - ๒๑ ธันวาคม ๒๕๔๘
ในที่สุดก็ได้ลองติดตั้งต่ิอเสียที ปรากฏว่าที่เครื่องไอบีเอ็มมองไม่เห็นฟล็อปปี้ ไม่ใช่เพราะมันไม่ฉลาดพอ แต่เป็นเพราะไปบูตด้วยแผ่นที่เป็นเคอร์เนล 2.4.18 ในขณะที่ในเครื่องลงเคอร์เนล 2.4.27 ไว้ ถึงแม้มันจะบูตได้แต่ก็โหลดไดรฟ์เวอร์ไม่ได้เลยสักตัว เมื่อลองเช็คดูดีๆ ปรากฏว่าฟล็อปปี้ของเคอร์เนลตัวใหม่ๆ ได้ตัดฟังก์ชัน rescue ไปเสียแล้ว จึงไม่สามารถเรียกใช้ได้อีกต่อไป สุดท้ายต้องตัดใจ สั่งให้กรับเขียนทับมาสเตอร์บูตเรคคอร์ดไปเลย ด้วยคำสั่ง
# grub-install /dev/hda
ลองรีสตาร์ทดูก็ใช้ได้ กรับสร้างตัวเลือกสำหรับวินโดวส์ให้เรียบร้อยอยู่แล้ว พอบูตเข้าเดเบียนทุกอย่างก็เป็นไปตามปกติ มองเห็นเนตเวอร์คและฟล็อปปี้ ทำการเปลี่ยนตำแหน่งบูตของกรับให้เป็น /dev/hda3 ตามเดิม แล้วจึงทำการสำเนาไฟล์บูตลงแผ่นอย่างที่ตั้งใจได้ในที่สุด สุดท้าย บูตด้วยแผ่นโปรแกรมวินโดวส์เอ็กซ์พี เลือกเข้า Recovery Mode แล้วใช้คำสั่ง fixmbr เพื่อกลับไปใช้บูตโหลดเดอร์ของวินโดวส์เช่นเดิม

 

ฮานาบิ

วันนี้ได้รับน้องเมล์เป็นภาพชุดการแสดงดอกไม้ไฟที่ญี่ปุ่น สวยมากๆ ทำให้นึกถึงตอนไปเบียดคนที่อาซาคุสะเมื่อหลายปีก่อน แต่ตอนนั้นไม่ได้วิวดีขนาดนี้หรอกนะ เพราะคนญี่ปุ่นเองเขาไปจับจองที่กันตั้งกะหัววัน ไอ้เราคนไทยขี้เกียจๆ ไปตอนก่อนเริ่มงานนิดเดียว มีที่ยืนก็บุญแล้ว เลยได้วิวทางด่วนไปเต็มๆ แต่ลอยกระทงปีนี้โชคดี ได้ชมดอกไม้ไฟชุดใหญ่กลางสะพานตากสิน จุดนานร่วมครึ่งชั่วโมง อภินันทนาการจากบรรดาโรงแรมใหญ่ๆ ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เกิดคันมืออยากถ่ายรูปขึ้นมาตะหงิดๆ แต่ปีหน้าเกิดแบกกล้องไปจริงๆ ไม่รู้จะมีที่ยืนหรือเปล่านะซิ ขอเอารูปคนอื่นมาแปะไว้ดูเล่นก่อนดีกว่า


yonshaku niagarafuji
chichibu bluebee
opening margaret
miyajima himawari
benitenmetsu

Sunday, November 20, 2005 

ก้าวที่หนึ่ง

ตามอ่านแต่บล็อกคนอื่นมาตลอด วันนี้ขอลองสร้างบล็อกเองดูสักหน่อย จริงๆ แล้วเป็นคนขี้เกียจจดนั่นเอง เจอปัญหาอะไรส่วนใหญ่ก็หาข้อมูลได้ในเน็ต เลยคิดว่าไม่เห็นต้องจด เดี๋ยวเสิร์ชเอาใหม่ก็ได้ แต่เอาเข้าจริงๆ มันก็เสียเวลาเหมือนกันแฮะ... เอามาจดไว้ที่นี่ละกัน เผื่อใครมีปัญหาเหมือนกัน มาอ่านเจอก็อาจเป็นประโยชน์บ้าง

ช่วงนี้ยังไม่ค่อยว่าง เดี๋ยวค่อยๆ ทะยอยเอาเรื่องที่เคยทดในกระดาษไว้มาลงละกัน ถ้าใครเผลอเปิดมาเจอก็แวะมาเยี่ยมใหม่วันหลังนะคร้าบ...

ตอนนี้แอบไปเขียนข่าวลง blognone กับเขาด้วย ใครที่ชอบข่าวอัพเดตทางเทคโนโลยี ไม่ควรพลาดเว็บนี้ด้้วยประการทั้งปวง

เกี่ยวกับฉัน

  • ชื่อ อมร
  • อยู่แถวๆ ลาดกระบัง, กรุงเทพฯ
  • เรียนหนังสือมานาน ยังไม่จบซะที เพราะชีวิตคือการเรียนรู้
My profile

บล็อกเพื่อนๆ

Powered by Blogger
and Blogger Templates